วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความลับแห่งกาลเวลา คำตอบว่าทำไมถึงรวย ???

มีคนเคยบอกว่า  "เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด"  เพราะมันมีจำกัด

อันนี้คงดูเป็นคำคมคำนึงที่บาดใจใช้ได้



แต่ในแง่ของการเงิน  เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากเช่นกันครับ  ถึงกับมีการบัญญัติศัพท์ว่า time value หรือมูลค่าของเวลากันเลยทีเดียว

แล้วทำไมเวลาถึงมีค่า  มีค่ายังงัย ????


คนอยากรวยก็เคยสงสัยครับ  และพบว่าสิ่งนี้แหละที่ทำให้เกิดคนรวย



สิ่งที่ทำให้เวลามีค่าได้คือ "ผลตอบแทนทบต้น"ครับ  มันเป็นเรื่องง่ายๆที่เคยเรียนมาในชั้นประถม  แต่เชื่อเถอะว่าในโลกแห่งความเป็นจริงถ้าใครไม่ได้เล่นหุ้นหรืออยู่กับธนาคาร  จะไม่เข้าใจถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของเวลาครับ !!!



มาลองดูตัวอย่างที่ปิดบังสายตาเราเอาไว้กันครับ
ตอนเด็กๆถ้าเรายังจำกันได้  อาจารย์จะสอนว่า  ถ้าเรามีเงิน 100 บาท  เอาไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ย 3%
หมดปีที่ 1 เราจะมีเงิน 103 บาท
หมดปีที่ 2 เราจะมีเงิน 106.9 บาท
หมดปีที่....................

แต่ในชีวิตจริง  เรากลับมองว่า  เรามีเงิน 1ล้านบาท  ฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยปีละ 3%  แปลว่าเรามีเงินใช้ปีละ 30,000 บาทแทน  เราไม่ได้พยายามให้มันทบต้นออกมา  แต่กลับดูว่าธนาคารจะให้ดอกเบี้ยเพื่อให้เราใช้ปีนึงเท่าไหร่(หรือจริงๆคิดแล้วมันไม่มากมากกว่า)



หรือเราอาจจะคิดว่า  เราลงทุน 1ล้าน  ได้เงินปีละ 2 แสน  ถ้าทำ 5 ปีก็คืนทุน  จากนั้นก็มีเงินเก็บปีละ 2 แสน  เก็บ 10 ปีก็ได้ 2 ล้าน

นี่คือที่คนเราคิดกันครับ



แล้วดอกเบี้ยทบต้นมันมีอะไรที่มากกว่านี้ไหม  จริงๆก็ไม่มีหรอกครับ  แต่เราไม่เคยคำนวนดูว่า  จริงๆถ้าเราใช้อัตราทบต้น 10% หรือ 20%, 30% ผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

ถ้าเราสามารถสร้างผลตอบแทนปีละ 30% ได้  เงินเราจะเป็น 2 เท่า(กว่าๆ)ในทุกๆ 3 ปี  หรือได้ถึง 10 เท่าในทุกๆ 10 ปี
น่าสนใจไหมล่ะครับ  ถ้าเรามีเงิน 1ล้าน  แล้วสามารถหาผลตอบแทนได้ 30% ต่อปี  อีก 30 ปีข้างหน้าเราจะมี 1,000ล้าน(โดยไม่ต้องเติมเงินเข้าไปแม้แต่บาทเดียว)

หรือถ้าได้น้อยหน่อย  ได้ 15% ต่อปี  ผ่านไป 50 ปีก็มีพันล้านได้เหมือนกันครับ

น่าสนใจไหมครับ  ผลตอบแทนทบต้นเนี่ย ^^



มีโจ๊กเรื่องนึงเกี่ยวกับผลตอบแทนทบต้นของฝรั่งครับ

เป็นเรื่องในปี 1626 เมื่อผู้อพยพจ่ายตังซื้อเกาะแมนฮัตตันจากอินเดียนแดงท้องถิ่นด้วยอัญมณีและเครื่องประดับที่มีมูลค่าเพียง 24 เหรียญเท่านั้น  จากนั้นตำนานนี้ก็ล้อถึงความโง่ระดับ 10 ของชาวอินเดียนแดงครับ
แต่แล้วก็เอามีคนหัวใสเอาเรื่องผลตอบแทนทบต้นมาบอกว่า  รู้ไหมว่า  ถ้าสมมติชาวอินเดียนแดงคนนั้น  เอาเครื่องประดับทั้งหมดไปขาย  แล้วเอาเงิน 24 เหรียญไปสร้างผลตอบแทนแค่ 8% เป็นเวลาสัก 362 ปี  ตอนนี้ลูกหลานของเค้าจะมีเงินเท่าไหร่ ???

ลองเดาเล่นๆดูครับ

คำตอบคือประมาณ 30ล้านล้านเหรียญครับ !!!

และบอกอีกว่าเกาะแมนฮัตตันมีค่าตอนนี้ราวๆ 28,000ล้านเหรียญ  ก็คือลูกหลานเค้าสามารถซื้อเกาะอย่างนี้ได้เป็นร้อยๆเกาะเลยครับ
หรือต่อให้ชาวอินเดียนแดงเก่งน้อยกว่านั้น  ได้ดอกเบี้ยแค่ 6% ผ่านไป 362 ปีก็จะมีเงินถึง 35,000ล้านเหรียญเหมือนกันครับ

ที่ยกเอามาเล่าไม่ได้ต้องการแก้ต่างแทนชาวอินเดียนแดง  และผมคิดว่าชาวอินเดียนแดงก็โง่จริงๆนั่นแหละ  และไม่คิดด้วยว่าเค้าจะเอาเงินไปหาผลตอบแทนแบบทบต้นด้วย

แต่ต้องการจะให้ดูพลังของผลตอบแทนทบต้น  แน่นอนว่าวันนี้เราคงไม่ได้มีเงินกันแค่ 24 เหรียญ  ก็อาจไม่ต้องใช้เวลานานขนาด 362 ปี  และเราคงไม่ได้หวังผลตอบแทนแค่ 8% ต่อปีเป็นแน่ครับ


นี่แหละครับพลังของผลตอบแทนทบต้น

แม้แต่ไอสไตน์ยังบอกเลยว่า  "ผลตอบแทนทบต้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ลำดับที่ 8 ของโลก" !!!



ดังนั้นเวลามีค่าครับ  ถ้าเราปล่อยให้เวลาผ่านไปเฉยๆโดยเงินเราไม่เพิ่มมูลค่า  นั่นคือเราไม่ได้ใช้พลังของเวลาให้เต็มที่ครับ


นี่ก็คือคำตอบของคนรวยว่า  ทำไมเค้าถึงให้เงินอยู่นิ่งๆไม่ได้  เค้าต้องลงทุนอยู่ตลอดเวลา  เพราะเค้ารู้มูลค่าของเวลาว่าจะทำให้เงินเค้างอกมาได้



สรุปออกมาสั้นๆเลยนะครับ  อยากรวยต้องลงทุนครับ !!!


นอกจากจะเป็นการใช้เวลาให้เงินงอกแล้ว  ปัจจุบันยังมีสิ่งที่เรียกว่าเงินเฟ้ออีกต่ะหาก
ตอนเรียนเศรษฐศาสตร์เราคงจะเคยได้ยินคำว่าเงินเฟ้อ  หรือ inflation ใช่ไหมครับ  แต่คงจะงงๆ
ขอสรุปง่ายๆว่า  เงินเฟ้อคือการที่เงินในระบบมีมาก  ทำให้มูลค่าของเงิน"ลดลง"ครับ  ปกติเงินจะเฟ้อราวๆ 3% ทุกปีอยู่แล้วครับ

อาจจะยังงงๆสำหรับบางคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องเงิน
สมมติง่ายๆก็เช่น  ตอนเด็กๆก๋วยเตี๋ยวจานละ 5 บาทก็ซื้อได้  มาตอนนี้ราคา 20-30 บาทแล้ว  บางร้าน 40 ก็มี  ซึ่งนี่แหละเงินเฟ้อ  ของทุกอย่างราคาแพงขึ้น
ตอน 40 ปีที่แล้ว  ใครมี 1ล้านอาจจะรวยมาก  แต่ตอนนี้ก็เฉยๆครับ  ก็ถือว่ามีเงินอยู่บ้าง  เพราะอำนาจของเงินลดลง


นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนรวยต้องลงทันครับ  เพื่อปกป้องมูลค่าเงินของเค้า  หากเงินเค้าเท่าเดิม  มูลค่าการซื้อของเค้าจะลดลง



คนรวยไม่ใช่ทั้งหมดต้องโลภมากไม่เคยพอ  แต่เค้าพอไม่ได้  เพื่อปกป้องเงินของเค้า  และการมีเครื่องจักรผลิตเงินอยู่ตรงหน้า  ใครจะไม่กดล่ะครับ  แต่สำหรับคนชั้นกลางและคนจนส่วนมาก  ไม่ได้รู้หรอกว่าเงินถูกกัดกร่อนเข้าไปทุกวัน  แถมมีเครื่องกดเงินอยู่คือเวลาอยู่ด้วย  แต่กลับไม่เคยใช้เลยครับ !!!!




คนอยากรวยเชื่อว่าถ้าเข้าใจ 2 เรื่องนี้(ที่โรงเรียนไม่เคยสอน)  จะเข้าใกล้ความรวยเข้าไปอีกขั้นครับ




พอมีความรู้ 2 เรื่องนี้  ก็สามารถเอามาประยุกต์ใช้ได้อีกบานเลยครับ  ซึ่งโรงเรียนก็ไม่เคยสอนอีกแล้ว = ="

เรื่องนี้ง่ายมากๆ  เช่น  มีคนจะให้เงินคุณ 1 ล้าน  แต่ให้เลือกระหว่างให้ปีนี้  กับให้ปีหน้าคุณจะเลือกอะไร


ถ้าเข้าใจเรื่องผลตอบแทนทบต้น  น่าจะได้คำตอบนะครับ


คำตอบคือเอาปีนี้ครับ  ไม่ใช่คำตอบว่าอะไรก็ได้ครับ  เพราะเอาเงินปีนี้  อย่างทุเรศๆก็เอาไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ย 2-3%  อย่างน้อยก็ได้เงิน 1,030,000 บาทครับ

ดังนั้นคนอยากรวยต้องตอบว่า  เอา 1 ล้านมาปีนี้  ไม่งั้นปีหน้าเอามา 1ล้าน3 หมื่น


โลภไหมล่ะครับ ???
แต่ในความเป็นจริงมันก็โหดร้ายเช่นนี้ล่ะครับ

ดังนั้นการยืมเงินต้องให้ดอกเบี้ย  เพราะคนให้เงิน"เสียโอกาส"ไปลงทุนครับ


สิ่งนี้เค้าเรียกกันว่า time value of money หรือค่าของเงินตามเวลาครับ


เริ่มเห็นภาพใช่ไหมครับ


งั้นมาดูกันต่อเลย
คนทั่วไปชอบให้ลูกเรียนสูงๆ  จบมาทำงานดีๆ  แต่เคยสังเกตไหมครับว่าปริญญาตรีหรือปริญญาโทเงินเดือนมันแช่ที่เท่านี้มากี่ปีแล้ว  ในขณะที่ของขึ้นราคาเอาๆ

คนอยากรวยไม่ได้เก็บสถิติละเอียด  แต่ที่แน่ๆเงินเดือนไม่ได้ขึ้นหลายๆ % แน่นอนครับ  อย่าง 20-30 ปีที่แล้วเงินเดือน 10,000 บาท  ผ่านมาถึงปัจจุบันเงินเดือนไม่ได้ขึ้นไป 3-4 เท่าอย่างราคาข้าวของแน่ๆครับ

ความเชื่อว่าทำงานดีๆ  เงินเดื่อนสูงๆ  เก็บออม  อาจจะไม่พอถ้าไม่รู้จักลงทุนครับ


ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว  ยอมรับเสียเถอะ

เก็บออมอย่างเดียวมีแต่เหนื่อยครับ  พอเหนื่อยมากๆก็ตีโพยตีพายว่าคนรวยเอาเปรียบ  ไม่ทำงานก็มีเงินกิน 
จะโวยทำไมล่ะครับ  เวลาก็มีเท่ากันแต่ไม่ใช้กันเอง ????




บ่นมากเดี๋ยวก็มีคนไม่เห็นด้วย  มาต่อที่เรื่องหุ้นดีกว่า  แล้ว time value of money เกี่ยวข้องกันไหม ???

เกี่ยวแน่นอนครับ  บอกแล้วว่าพื้นฐานของสิ่งนี้ประยุกต์ได้จนมันมือไปหมด

ถ้าใครเคยศึกษาแนว VI หรืออ่านเกี่ยวกับบัฟเฟตคงจะเคยได้ยินคำว่า DCF หรือ discount cash flow มาบ้าง
แปลเป็นไทยแบบงงๆและไม่น่าแปลเลยว่า "กระแสเงินสดคิดลด"  ยิ่งแปลยิ่งงงไปใหญ่เนอะ ^^


DCF เป็นหนึ่งในวิธีการที่บัฟเฟตชอบใช้  เพราะเป็นการหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการได้แม่นยำมากๆ
บทความนี้เริ่มยาวละ  มาดูกันก่อนดีกว่า


คนอยากรวยย้ำเสมอๆๆๆๆๆว่า  อัตราส่วนหรือสูตรอะไรให้เข้าใจแบบพ่อค้า  อย่าไปจำแบบนักบัญชี  เดี๋ยวจะเจ๊งหมด  เพราะมีก็ใช้ไม่เป็น  ไม่รู้ข้อดีข้อเสียหรือข้อจำกัด  ถ้าเราเข้าใจจะเอาไปพลิกแพลงยังงัยก็ได้
ขออธิบายความสำคัญของกระแสเงินสดกันก่อน  กระแสเงินสดที่ใช้หลักๆจะมี 2 ตัวคือ OCF ย่อมาจาก operation cash flow และ FCF หรือ free cash flow

OCF คือกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน  เช่น  เปิดร้านกาแฟ 1ร้าน  ปลายปีมีเงินสดเหลือ 300,000 บาท  ก็นั่นแหละคือ OCF จะบอกว่าเป็นกำไรแบบพ่อค้าก็พอได้
แต่ถ้าจะดูจากงบการเงินตรงนี้หลักๆจะเกิดจากกำไรบวกกับด้วยค่าเสื่อมต่างๆ  และดูว่าลูกหนี้การค้าจ่ายเงินหรือเปล่า  เพราะถ้ากำไรมากๆ  แต่จริงๆไม่มีเงินสดเข้าก็ลำบากกันแล้ว  จะทวงได้ครบตามที่ลงไว้หรือเปล่าก็ไม่รู้
สาเหตุที่ต้องดู OCF เพื่อจะดูว่าสัมพันธ์กับกำไรไหม  ถ้า OCF นิดเดียว(คือเงินในมือไม่มาก)  แต่กำไรออกมาบานเลย  อันนี้ต้องเริ่มคิดแล้วว่า  เอ๊ะ!!! มีอะไรผิดหรือเปล่า  เพราะถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัทคงอยากจับเงินสดๆมากกว่าเขียนกำไรในบัญชีเยอะๆแต่ไม่มีเงินใช่ไหมครับ ???  พูดให้ดูหรูๆก็คือดู"คุณภาพของกำไร"นั่นเอง


ส่วน FCF คือเอา OCF หักออกด้วยค่าใช้จ่ายปีต่อไป  หรือพูดให้หรูหน่อยก็คือลบด้วย capital expenditures(CAPEX) และ changes in working capital(CWC)
สูตรและศัพท์อาจจะดูงงๆ  แต่จริงๆไม่ยากเลย  คือร้านกาแฟเดิม  ต้องแต่งร้ายใหม่  ใช้เงิน 20,000บาท  ตรงนี้ก็คือ CAPEX หรือซื้อพวกสินทรัพย์ถาวร  และต้องซื้อเม็ดกาแฟใหม่มาทำปีหน้าอีก 30,000บาท  ตรงนี้ก็คือ CWC คือพวกสินทรัพย์หมุนเวียน
ทำให้ FCF ต้องเอา OCF มาหักออกจากค่าใช้จ่ายทั้ง 2 อย่าง

อันนี้คิดตามพ่อค้าแม่ค้าก็เข้าใจได้ครับ  ที่ต้องหักเพราะไม่งั้นปีหน้าไม่รู้จะขายอะไร  OCF อาจจะได้มาเยอะ  แต่ถ้าต้องเอามาลงทุนต่อเยอะกำไรจริงๆก็นิดเดียว  เช่นกำไร 300,000 บาท  แต่ต้องซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อแข่งขันทุกปี 400,000 บาท  อย่างนี้จะเอาเงินมาจากไหน  เอากำไรยังงัย
ดังนั้นดูบริษัทก็ต้องดู FCF ด้วย  ถ้าเกิดว่ากำไรเยอะ OCF เยอะ  แต่ต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้ปีต่อไปธุรกิจดำเนินไปได้เยอะด้วย  กำไรหรือเงินสดในมือจริงๆก็คงเหลือไม่มาก  ยังงี้ไม่ดีแน่นอน  อย่างน้อย FCF ก็ควรจะเป็นบวก(แต่ FCF ไม่เท่ากับเงินสดในมือของงบนะครับ)


จุดตายคือ  อย่าพยายามเอา financial cash flow มารวมด้วยครับ
แน่ะ!!! มีศัพท์ใหม่อีกแล้ว  ตัวนี้เดาง่ายครับ  คือกระแสเงินสดที่กู้ยืมมานั่นเอง  เพราะถ้าเอามารวมด้วยยังงัยมันก็เป็นบวกครับ  เช่นมีกำไร 300,000บาท  แต่ต้องซื้อเครื่องจักร 400,000บาท  ก็เลยกู้มาซะเลย 500,000 บาท  สรุป FCF 400,000 บาท  อย่างนี้คงไม่ดีแน่ๆใช่ไหมครับ  เพราะจริงๆไม่มีเงิน  แต่ไปกู้มาได้ยังงัยก็ทำให้มันดีขึ้นได้ครับ(ถ้ากู้แล้วยังติดลบอีกก็เห้อออออออออออออออ)


จริงๆชนิดของ cash flow มีมากกว่านี้  แต่ยกเฉพาะที่จำเป็นมาให้ดูครับ  อย่าลืมนะครับ  เข้าใจแบบพ่อค้า  อย่าอ่านแบบนักบัญชีครับ(พูดคำนี้บ่อยๆจะเจอเด็กบัญชีด่าไหมเนี่ย)



ถึงไหนแล้วหว่า

อ้อ DCF ว่ามันคิดลดจาก FCF จากเหตุผลดังกล่าว


ทีนี้สมมติต่อว่า  ร้านกาแฟสามารถทำเงินได้ 1ล้านบาทเป็นเวลา 5 ปี  และจะปิดกิจการ  เราควรจะซื้อที่เท่าไหร่ดี ????

อันนี้โจทย์ไม่สมบูรณ์ครับ  เพราะจริงๆต้องบอกผลตอบแทนที่เราอยากได้ด้วย  แต่คนอยากรวยจงใจให้ไม่สมบูรณ์  เพราะมีอะไรให้เล่นอีกเยอะเลย
ทีนี้สมมติว่าคนอยากรวยอยากได้ผลตอบแทนสัก 10% ต่อปีนะครับ  พูดแบบแปลกๆว่า  เงินส่วนนี้ถ้าชั้นไม่ซื้อร้านแกก็มีปัญญาไปลงทุนอย่างอื่นได้ผลตอบแทน 10% เหมือนกันย่ะ

ทีนี้เรามากันทีละปีนะครับ

ปีแรก เงิน 1 ล้านก็เท่ากับ 1ล้านครับ

ปีที่ 2 เงิน 1 ล้านจะไม่เท่ากับ 1ล้านบาทแล้ว  จะน้อยกว่า 1 ล้าน  เพราะมูลค่าลดลงตามกาลเวลา  จะเหลือเท่าไหร่คิดออกไหมครับ  จะเหลือแค่ 1ล้าน/1+10%
ตรงนี้งงไหมครับ  เพราะจากตัวอย่างข้างบนๆ(ลองหาดูนะ)  บอกว่า"ถ้าเอาเงิน 1 ล้านมาให้ชั้นปีหน้า  ชั้นไม่เอา  จะเอาก็ต้อง 1ล้าน1แสน  เพราะชั้นหาสามารถเอาเงินไปหาผลตอบแทนได้ 10% ย่ะ"
แต่ทีนี้เรากลับกันว่า  ถ้าเธอหาผลตอบแทนได้ 10% ต่อปี  ปีหน้าเธอได้ 1ล้าน  แปลว่าปีนี้เธอได้เท่าไหร่
เทียบบัญญัติไตรยางค์กลับดูนะครับ  ไม่งั้นลองถามอาจารย์คณิตศาสตร์ดูแล้วกัน(ไม่ใช่คาบเลขนะคร๊าบบบบบบบบบบ)

ปีที่ 3 เงิน 1ล้าน  ก็ไม่เท่ากับ 1 ล้านอีกแล้วครับ  จะน้อยกว่า 1 ล้านและน้อยกว่าปีที่ 2 อีกด้วย  จะเหลือแค่ 1ล้าน/(1+10%)^2 ครับ
งงไหมเอ่ย  ถ้างงลองอ่านปีที่ 2 อีกทีดูนะครับ  เหมือนกันเลยแค่เปลี่ยนตัวเลข

ปีที่ 4 ถ้าเข้าใจแล้วลองดูสิว่าเงิน 1 ล้านจะมีค่าเท่าไหร่  ตั้งสมการกันได้ไหมครับ  ก็คือ 1ล้าน/(1+10%)^3 ครับ  เหตุผลลองย้อนกลับไปอ่านข้างบนดูเหมือนเดิมแล้วค่อยๆทำความเข้าใจนะครับ

ปีที่ 5 ลองคิดเองเลยครับ  ไม่เฉลยด้วยเอ้า ^^


แปลว่าถ้าเราอยากได้ผลตอบแทน 10%  เราจะต้องจ่ายเงินทั้งหมด=  1ล้าน +  1ล้าน/1+10% + (1+10%)^2 + (1+10%)^3 +ปีที่ 5(ไม่เฉลยนะครับ  อิอิ)

เห็นไหมครับว่าสูตรที่ยากๆ  พอเราเข้าใจมันก็ไม่ได้ยากพิสดารแบบนั้น


แล้วทีนี้คำถามตามมาคือ  เราจะ discount rate เท่าไหร่ดีล่ะ  ถ้าผมอยากได้ผลตอบแทนจากหุ้น 30% ก็ discount ไป 30% เลยดีไหม
โอ  ไม่ดีแน่ๆครับ  ราคานั้นคงไม่มีใครยอมขายให้

ถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนจากหุ้น 30% เราต้องหาหุ้นที่ undervalue สัก 30% นะครับ  ไม่ใช่ discount 30%  แต่ถ้าเราอยากได้ผลตอบแทนจากกิจการ 30%(ถ้าเราไปซื้อกิจการ)  discount 30% ได้ครับ


จริงๆการ discount มันจะมีสูตรอยู่  โดยใช้งบดุลระหว่าง %หนี้และทุนมาคิด  หรือที่เรียกว่า WACC
ยังงัยลองหาอ่านเพิ่มเติมดูนะครับ  รู้สึกบทความนี้ชักยาว  เดี๋ยวไม่จบสักที 555+


การ discount แบบง่ายๆเลยคือ  ปกติจะใช้ที่ 10% ครับ  แต่ถ้าบริษัทไหนเสี่ยงกว่านั้นจะใช้ discount ให้สูงขึ้นราวๆ 12%(เพราะยิ่ง discount มากแปลว่ามูลค่ากิจการจะน้อยลงหรือหุ้นถูกลงนั่นเอง)  ที่เราต้อง discount เยอะๆเพราะเราเสี่ยงมากขึ้น  เราเลยต้องต่อหน่อย  เหมือนซื้อมือถือที่ร้านตู้กับศูนย์นั่นแหละครับ  ราคาเท่ากันไปซื้อเครื่องศูนย์ดีกว่า  ถ้าร้านตู้อยากขายก็มีโอกาสโดนย้อมแมว  ดังนั้นมันต้องลดให้อีกหน่อย  แต่ถ้าบริษัทไหนแข็งแกร่งมากๆ  ไม่เสี่ยงเลย  รายได้มาแน่ๆ  เช่น CPALL, PTT, ADVANC พวกนี้เราอาจจะ discount แค่ 8% ครับ
ตรงนี้ยอมรับว่าค่อนข้างจะ controversy หรือแล้วแต่คนจะลดครับ  ปกติไม่คิดอะไรมากก็ 10% ไปครับ  หรือจะลอง WACC ก็ได้ครับ  มันจะออกมาราวๆนี้แหละ


ประเด็นต่อมาก็คือ  คิดลดไปกี่ปีดี  เพราะนอกจากยิ่งหลายปียิ่งมีโอกาสผิดมากแล้ว  ยิ่งคิดหลายปีเราจะได้ราคาหุ้นสูงๆอีกด้วยครับ  เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของต่างประเทศบอกให้ใช้ 5-7 ปีครับ  เพราะ 10 ปียาวไป  น้อยกว่านั้นสั้นไปเพราะคงไม่มีใครขายราคานี้ให้
แต่ถามอาจารย์  อาจารย์บอกว่าใช้ 10 ปี  หรือคิดลด 5 ปีคูณ 2 ครับ

ประเด็นนี้คนอยากรวยก็ยังงงๆอยู่นะครับ  แต่ปกติไม่ค่อยชอบ DCF ถึง 10 ปีเพราะนานไปครับ  อยู่ที่ราวๆ 7-8 ปีมากกว่าครับ  อันนี้ก็ฟังหูไว้หูแล้วลองคิดดูกันเอานะครับ  เชื่ออย่างไรก็ทำอย่างนั้น  เพราะที่ถูกจริงๆ  ยังไม่มีครับ



แต่มีอีกเรื่องนึงที่น่าสนใจคือ  ร้านกาแฟเดิม  บอกว่าเปิดได้ 10 ปีนะ  ได้ FCF ปีละ 1ล้าน(แน่ะ  ร้านกาแฟรู้จัก FCF ด้วย)  อยากได้จ่ายมา 7 ล้าน  เอาป่าว ???
ทีนี้แหละครับ  กลายเป็นมีราคาตั้งมาให้  ขาดแต่ตัว discount rate หรือในแง่ซื้อกิจการคือ % ผลตอบแทน  หรือชื่อหรูๆอีกอันนึงว่า IRR(internal rate of return)  คล้ายๆเรื่อง DCF เลยครับ  แต่อ่านที่อื่นเค้าจะเขียนแยกกันนะ  กลัวเรารู้ว่าเรื่องเดียวกัน
ทีนี้ก็แค่ตั้งสมการ DCF นั่นแหละครับ  แต่เปลี่ยนตัวแปรนิดหน่อย  โดยให้ 1ล้าน/1+X% ครับ  ดูว่าออกมาได้กี่ % และเรายอมรับได้ไหมกับผลตอบแทนนั้น  สมมติออกมา 5% พอใจไหม 10% ล่ะ  หรือ 20%

ตรงนี้ขี้เกียจคำนวนให้นะครับ  รีบไปนอนเก็บแรงดูนัดชิง UCL ดีกว่า  จริงๆเพราะเลขมันเยอะ  ปวดหัว 555+



แต่ถ้าทางบัญชีจะมีประมาณว่า  จ่าย 7 ล้าน  ร้านกาแฟเปิดได้ 10 ปี ได้ปีละ 1 ล้าน  อยากได้ผลตอบแทน 8%  คุ้มไหม  ประมาณนี้อ่ะครับ  ก็พลิกแพลงกันไป  ตรงนี้มาเล่าสู่กันฟังเฉยๆ  ไม่ได้ต้องการให้คิดเยอะถึงขนาดนั้นครับ




จากบทความนี้คงพอจะเข้าใจบ้างนะครับว่าทำไมคนรวยถึงรวยขึ้น  และทำไมเราถึงไม่รวยสักที  เพราะเค้าใช้"เวลา"ให้เกิดประโยชน์น่ะสิครับ

และจากเรื่องผลตอบแทนทบต้นก็ประยุกต์ไปต่อที่ DCF ได้  จะเห็นว่าสิ่งต่างๆมันก็มาจากที่เราเคยคิดกันนั่นล่ะครับ  ไม่ได้วิจิตรพิสดารอะไรเลย  ไว้ถ้าว่างๆจะแฉ P/E และ P/BV ให้ดูว่าจริงๆเราทุกคนคิดได้ครับ  ขนาดสูตรบ้าๆอย่าง DCF ยังอยู่ในพ่อค้าแม่ค้าได้เลย  แล้วทำไมสูตรง่ายๆอย่าง P/E หรือ P/BV จะคิดกันเองทุกคนไม่ได้ครับ  จริงไหม ???



ดังนั้นนอกจากเราจะต้องลงทุนแล้ว  ยังจะต้องลงทุนให้เร็วที่สุดด้วยครับ  เพราะเวลาจะทำให้ผลตอบแทนเรามหาศาล  คนที่ลงทุนตั้งแต่ม.ปลาย  อาจจะทำผลตอบแทนได้มหาศาลจนจบมหาลัยอาจจะไม่ต้องทำงาน FT เลยก็ได้นะครับ(สำหรับคนที่ขี้เกียจทำงานประจำ)
และสำหรับคนแก่  อย่าท้อครับ  ตำนานคนที่ลงทุนตอนแก่  แต่รวยมีมาแล้วครับ  คือแอนน์ ไชเบอร์  ขอเล่าสั้นๆนะครับ  ถ้าสนใจลองไปอ่านประวัติแกเพิ่มเติมดู

แอนน์เป็นเสมียนครับ  เงินแกเดือนน้อยมากๆๆๆๆคือประมาณปีละ 3,000 เหรียญ  หรือเดือนละไม่เกิน 10,000บาท !!!  ความรู้ก็เสมียนอ่ะครับ(ไม่ได้ดูถูกนะ  ก็ว่าไปตามจริงครับ)  ตอน 38 ปีเธอเอาเก็บทั้งหมดให้น้องชายที่เป็นโบรกเกอร์เล่นครับ  ปรากฏว่าเจ๊งครับ 555+  โห  เงินทั้งชีวิต  เจ๊งหมดเลย TT^TT
ต่อมาอีก 12 ปี  เธอเก็บเงินทั้งชีวิตอีกได้แค่ 5,000 เหรียญหรือราวๆ 200,000 บาทไทยเทียบเวลากันครับ(คิดดูสิ 10 กว่าปีได้แค่ 2แสน  เงินเธอน้อยจริงๆนะ)  โดยใช้หลักจะเรียก VI ก็ได้ครับ  ลงทุนไปได้ปันผลก็เอามาลงทุนต่อ  เก็บเงินจากงานก็มาลงทุนต่อ
คิดดูนะครับว่าคนแก่อายุ 50 ปี  ลงทุนเริ่มต้น 200,000 บาท  เงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท  สุดท้ายจะได้เงินกี่บาท
จนวันสุดท้ายของชีวิต  แอนน์เสียชีวิตตอนอายุ 101 ปี  มีเงินทั้งหมด 20 ล้านเหรียญหรือราวๆ 800ล้านบาทครับ !!!
ผลตอบแทนทบต้นระดับปรมาจารย์ถึง 20% ต่อปี  แต่เธอไม่ได้จบการเงิน  ไม่ได้เกิดมาบนกลีบกุหลาบ  เธอเป็นแค่เสมียนและลงทุนตอนอายุ 50 ปี


เอาล่ะสิครับ  แล้วเราที่เงินเดือนมากกว่า 10,000 บาท  อยากรวยทำยังงัยดีครับ  ซื้อหวยใช้ buy and pray หรือจะลงทุนแบบแอนน์ครับ  ผมเชื่อว่าหลายๆคนมีเงินเยอะกว่าแอนน์ตอนเริ่มต้น  มีอายุน้อยกว่าแอนน์ตอนเริ่มต้นเสียอีก
อยากรวยแบบคนอยากรวยและแอนน์ไหมครับ(แต่เงินคนอยากรวยยังไม่ได้เศษเล็บตีนของเงินแอนน์เลยนะครับ 555+)


ไหนๆก็โม้มาเยอะแล้ว  ขออีกนิดว่า  ใครว่าคนรวยขี้เหนียว  งกและใจดำบ้างครับ
คนอยากรวยก้เคยคิดอย่างนั้น  จนเวลาผ่านไปทำให้รู้ว่าทุกสังคมมีหลายอย่างปะปนกันไปครับ  คนจนขี้งกก็มี  คนอยากรวยใจบุญก็มีครับ(แต่คนรวยขี้งก  และคนจนใจบุญก็มีเช่นกันนะ)

สุดท้ายเงินกว่า 800 ล้านบาทของแอนน์  ก็บริจาคให้มหาลัยทั้งหมดครับ
บัฟเฟตบอกว่า  ถ้าเค้าตาย  เงิน 99%จะบริจาคให้การกุศลทั้งหมด  หรือราวๆ 1ล้านล้านบาทเลยครับ
บิล เกตต์เคยบริจาคทรัพย์สิน 50% ให้การกุศล  ทำให้ตอนนี้เสียอันดับ 1 คนที่รวยที่สุดในโลกให้กับเศรษฐีชาวเม็กซิโกไปแล้วครับ
ไหนจะคุณตันอีกล่ะ

คนรวยๆมากๆพอรวยเค้าก็กลับมาทำ CSR ให้สังคม  ตอบแทนสังคมทั้งนั้นครับ  ขนาดคนที่คนไทยตราหน้าว่าเป็นคนทำเศรษฐกิจไทยพังอย่างโซรอสก็มีมูลนิธิของเค้าเองเช่นกัน(จริงๆไม่มีโซรอสก็พังอยู่ดีแหละ   อวดเก่งดีนักพี่ไทย)  แล้วเราล่ะครับ  ถ้าเราไปถึงขนาดนั้นจะทำเพื่อสังคมได้ขนาดคนที่เราตราหน้าเค้าว่าเป็นคนงกหรือเปล่า ???



บ่นมาตั้งนานสรุปว่า  พลังของผลตอบแทนทบต้นและ time value of money ทำให้เราต้องเริ่มลงทุนกันตั้งแต่วันนี้ครับ  เดี๋ยวนี้ครับ  จะกี่บาทไม่สำคัญ  ขอแค่มี"ความรู้"ก็พอ
บางคนบอกว่าเริ่มแค่ 10,000 พอไหม 50,000 ล่ะ หรือ 100,000 นึงล่ะเมื่อไหร่จะรวย  ถ้าแค่นั้นแล้วหวังเป็น 9 หลักไปนั่งเล่นเกมกดสูตรปั๊มเงินดีกว่านะครับ  คนที่ทำได้เค้าเติมเงินกันลงไปทีละเล็กนะน้อยกันทั้งนั้น
เริ่มอ่านหาความรู้  แล้วลงทุนได้แล้วครับ  หรือจะนั่งน้อยใจว่ารูปไม่หล่อแบบณเดชน์  พ่อไม่รวยแบบเจียรวนนท์  ก็ตามใจครับ


สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนระดับอ.นิเวศน์  หรือแม้กระทั่งบัฟเฟตไม่มีคือเวลาในการลงทุนครับ   สำหรับคนหนุ่มสาวที่อายุ 20-30 ปี(หรือน้อยกว่านั้น)  เวลาในการลงทุนยาวนานมากจนเปลี่ยนฐานะกันได้เลย
เสมียนอย่างแอนน์  เด็กมหาลัยอย่างพี่ฮง  หรือวินมอไซด์อย่างพี่มี่  เค้าลงทุนจนตอนนี้ระดับ 8-9 หลักกันแล้วครับ

แล้วเราจะรออะไร  และเมื่อไหร่ครับ
คนอยากรวยขอนำไปก่อน 2 เดือนแล้วนะครับ  ใครอยากรวยตามมาครับ 555+

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น